แบบหัดอ่านภาษาไทย

   จากสภาพหนังสือเก่ามากใช่มั้ยคะ ก็ลูกทั้ง 3 คนใช้หนังสือชุดนี้หัดอ่านค่ะ จริงๆแล้ว มีซื้อมาหลายสำนักนะคะ แต่ที่ชอบเอามาหัดให้ลูกอ่านคือ 4 เล่มนี้ เพราะว่าออกแบบมาช่วยฝึกเด็กได้จริงๆ เริ่มตั้งแต่ เล่ม 1 เรียนตอนอยู่ อนุบาล 2 ฝึกอ่านทุกวัน วันละ  1 หน้า  ทุกวันจนอ่านคล่องก็ไปหน้าใหม่ คุณแม่อ่านนำให้ฟังก่อน อ่านแบบสะกดคำนะคะ ขั้นแรกต้องฝึกออกเสียงพยัญชนะให้คล่องก่อนนะคะ เช่น ก ออกเสียงว่า กอ, ข  ออกเสียงว่า ขอ,  ตัวสระก็ต้องออกเสียงสระได้ก่อน แล้วจึงเริ่มผสมคำ ฝึกสะกดคำ การอ่านหนังสือต้องมีพื้นฐานการออกเสียงพยัญชนะ และสระได้คล่องดีก่อน ขั้นการสะกดคำจะง่ายเองค่ะ ฝึกไปตามแบบฝึกหัดชุดนี้ เหมาะสำหรับเด็กอนุบาลมากค่ะ แนะนำค่ะ ทำให้การอ่านไม่ใช่เรื่องยาก เด็ก ๆ พอเริ่มอ่านได้เขาจะดีใจมาก แล้วจะเริ่มไปหยิบนิทานที่ตัวเองชอบมาอ่านเอง และจะค้นพบว่า อ่านหนังสือเองได้แล้วดีจังเลยไม่ต้องเรียกใครมาคอยอ่านให้ฟัง 

2015-04-01 09.13.30

การทดสอบความพร้อมที่สาธิตจุฬาฯ

       จากข้อสอบเก่าๆที่ผ่านมา(ทราบจากคำบอกเล่าและลูกเล่าให้ฟัง) ข้อสอบสาธิตจุฬาจะมี 40 ข้อ ข้อละ 1 คะแนนเท่ากันทุกข้อ ข้อสอบแบ่งเป็น 4 ชุด ชุดละ 10 ข้อ การทำข้อสอบแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก 20 ข้อแล้วพัก แล้วก็กลับมาทำข้อสอบต่ออีก 20 ข้อ 

     ครึ่งแรก แนวข้อสอบจะเป็นฟังคำถามจากอาจารย์  ทีละข้อ แล้วตอบ ทำชุดที่ 1(ข้อ1-10) ชุดที่2(ข้อ1-10) คำถามเป็นความรู้รอบตัว  เนื้อหาความรู้ระดับอนุบาล 1-3  วิทยาศาสตร์  ภาษาไทย ทักษะคณิตศาสตร์ ทักษะการสังเกต เน้นการฟัง ปนๆกัน

     ครึ่งหลัง  ข้อสอบจะหนักไปทางวัดความถนัด อ่านคำสั่งครั้งเดียว  ทำยาว 5 ข้อ บางทีก็ 10 ข้อ

    ใช้สำหรับเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กๆนะคะ  ส่วนเรื่องเนื้อหาที่เด็กๆควรรู้ จะเขียนในตอนต่อไปค่ะ

 

มีหนังสือติวเข้า ป.1 เหลืออยู่หลายเล่ม

ตอนนี้ลูก ๆ สอบเข้า ป.1 กันไปครบทุกคนแล้วค่ะ  สอบเข้าสาธิตจุฬา 2  คน สาธิตประสานมิตร 1 คน  โรงเรียนราชวินิตสอบติดทุกคนค่ะ ตอนนี้มีหนังสือกองอยู่อีกหลายเล่ม ยังใหม่ ๆ อยู่ บางเล่มใช้ถ่ายเอกสาร บางเล่มก็ซื้อมาเตรียมจะฝึกทำ แต่ทำไม่ทันเหลืออีกหลายเล่มเลย ใครสนใจเข้าไปดูได้ ขายแบบถูก ๆ เลยค่ะ ที่ เว็บ deksatit.com ค่ะ

 

สอบเข้า ป.1 สนามสุดท้ายที่สาธิตจุฬา

     หลังจากสอบเข้าสาธิตประสานมิตรได้แล้ว ปีนี้พาลูกไปสอบเข้าสาธิตจุฬา  ตั้งใจเรียนเต็มที่ ผลสอบที่ สาธิตประสานมิตรพรีเทส และ โรงเรียนราชวินิต ผลการสอบน่าพอใจมาก คนเป็นแม่ก็มีความหวัง ทุ่มเทติวกันอย่างเต็มสามารถ ลูกก็ตั้งใจเรียน คะแนนก็ดี 

     ถึงวันสอบจริง  พอออกมาจากห้องสอบไม่พูดไม่จา หน้าแดง ๆ เงียบ ถามว่าทำได้มั้ย หลายครั้งมาก ยอมตอบออกมาว่า เพื่อนถามอาจารย์ว่าตัดตัวเลือกได้มั้ย อาจารย์บอกว่า “อาจารย์ไม่แนะนำให้ตัดตัวเลือก ถ้าจะตัดให้ใช้นิ้วตัด หรือตัดในใจ แล้วทำไม่ค่อยทันอาจารย์” แม่ใจหายเลย  แต่ก็ปลอบใจตัวเองว่าฝึกมาเยอะ คงไม่พลาด นับก็ไม่ขีดนับด้วย จะงงมั้ย จะพลาดมั้ย เออ รอฟังผลสอบ ผลสอบออกมา แทบเป็นลม ไม่มีชื่อลูก

     นี่เป็นสนามสุดท้ายแล้ว ทำไมถึงพลาดได้ ไม่น่าเลย เสียใจ และเสียดายมาก แต่ทำอะไรไม่ได้แล้ว ต้องยอมรับความจริง  แต่คิด ๆ ไปแล้วที่ผ่านมา ตั้งแต่ลูกคนโต จนถึงลูกคนเล็ก เราก็โชคดีมาตลอดแล้ว จะผิดหวังสักครั้งก็ไม่เป็นไร ยังไงก็ได้เรียนที่เดิม ที่โรงเรียนสาธิตประสานมิตรก็ดีอยู่แล้ว

     ที่เล่าให้ฟัง ฝากไว้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่จะติวลูก ๆ สอบเข้า ถ้าเป็นโรงเรียนสาธิตประสานมิตร กับ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ตามระเบียบถ้าเด็กถามว่าขีดนับได้มั้ย ตัดตัวเลือกได้มั้ย อาจารย์ก็จะตอบประมาณนี้ คือ ไม่ จริง ๆ แล้วตอนสอบเข้าประสานมิตรก็มีเด็กถามว่าขีดนับได้มั้ย อาจารย์ก็บอกไม่ได้ ถ้าสอบไม่ติดไม่รู้ด้วยนะ (ลูกเล่าให้ฟัง)

     ดังนั้น ถ้าจะให้ดี ควรฝึกใช้นิ้วตัดตัวเลือก ฝึกนับ โดยไม่มีขีดไม่มีทด ก็ดีนะคะ เผื่อไว้ (ความจริงแล้วถ้าเป็น รอยปากกาขีดหรือจุดเล็ก ๆ ก็ไม่เป็นไรหรอกค่ะ แต่ฝึกไว้เผื่อกรณีแบบนี้ค่ะ คือ ลูกกังวลว่าถ้าขีดไปแล้วครูไม่ให้คะแนน ก็เลยไม่กล้าขีดอะไรลงไปในข้อสอบ)

แก้ปัญหา สอนแล้วลืม ได้เรื่องใหม่ ลืมเรื่องเก่า

         ได้หน้าลืมหลัง ได้หลังลืมหน้า ปัญหาน่าปวดหัว สำหรับคุณพ่อ หรือคุณแม่ที่สอนลูก ความจริง น่าเห็นใจเด็ก  ๆ นะคะที่จะต้องเรียนรู้เรื่องเยอะแยะ เป็นธรรมดาค่ะที่จะลืมกันได้ นึกไม่ออกว่าเรื่องนี้เคยสอนกันแล้ว เคยอธิบายรู้เรื่อง เคยทำได้แล้ว คุณแม่ก็เปลี่ยนเรื่องใหม่ เพราะเข้าใจว่าลูกทำได้แล้ว พอเว้นไปนาน กลับมาให้ทำอีกที ทำไม่ได้แล้ว คุณแม่ท้อไปเลย กว่าจะสอนกันเข้าใจได้อธิบายกันตั้งนาน 

          ลองวิธีแบบเราดูนะ มันอาจจะช่วยอะไรได้บ้างไม่มากก็น้อย  เราจะจดหัวข้อเรื่องที่เรียนให้ครบที่สุด แล้วก็ค่อย ๆ เพิ่มในเรื่องใหม่ ที่เรียนไป จดไล่จากบนลงล่าง ใส่เลขข้อด้วย เคยจดได้ ร้อยกว่าเรื่องแน่ะ

         เรื่องไหนเรียนแล้วก็จะให้ใช้ปากกาแดงขีดทีละขีด วันไหนเรียนเรื่องอะไรก็ขีดไป หรือจะวาดเป็นรูปหน้ายิ้ม หน้าบึ้ง หน้าร้องไห้ ก็ได้

         แล้วก่อนที่จะสอนก็จะเอากระดาษแผ่นนี้แหละ  มาเปิดดูว่าเรื่องไหนเรียนไปแล้ว เรื่องไหนยังไม่เรียน ถ้าเรื่องไหนสอนไปแล้ว ยังใช้ไม่ได้ ก็จะทำสัญญาลักษณ์ หน้าบึ้งเอาไว้ เรื่องไหนดูว่าใช้ได้แล้ว จะเขียนเป็นหน้ายิ้ม บางวันหน้าร้องไห้ (แม่นี่แหละอยากร้องไห้สอนแล้วลูกทำไม่ได้) ถ้าเรื่องที่เรียนไปแล้ว เข้าใจ ทำได้แล้ว ดูท่าจะยาก กลัวลูกลืม ก็จะเอามาให้ทำทบทวน เป็นระยะ ฝึกจนรู้สึกได้ว่าเอาล่ะ เรื่องนี้แม่นแล้ว ก็เว้นได้ยาวหน่อย แต่ห้ามทิ้งนะ ได้เวลาก็เอามาให้ทวนอีกนิดหน่อย

           ถ้าจะให้ดี จัดชีทเป็นเล่ม สำหรับทบทวนไปเลย จัดไปเรื่องละ 5 ข้อก็พอ สำหรับเรื่องที่ต้องการทบทวน งานที่จะจัดทำเป็นเล่มทบทวน ต้องเป็นงานที่ลูกสามารถทำเองได้แล้วนะ ไม่ต้องอธิบายอะไรแล้ว อ่านโจทย์แล้วลูกทำได้เลย คุณแม่จัดดี ๆ รับรอง เรียนแล้วไม่ลืมค่ะ

          การสร้างรายการแบบนี้ ถ้าลองทำดูจะรู้ว่ามันมีประโยชน์ไม่น้อย ทำให้วางแผนการเรียนได้ง่ายขึ้น การแก้ไขจุดบกพร่องของลูกก็ทำได้ง่ายขึ้นค่ะ

ภาพสถานที่สอบ สาธิตจุฬา ประถม

ภาพสนามสอบสาธิตจุฬาเมื่อปีที่แล้วค่ะ  มีนักเรียนมาสอบทั้งหมด 2600 คน โดยประมาณ ห้องสอบไม่พอ จึงจัดสอบเป็น รอบเช้า และรอบบ่าย ค่ะ

20140317_104341

20140317_104523

20140317_104419

20140317_110728

ลูกใครเรียนไม่เก่ง อย่าท้อ อย่าถอย ฟังทางนี้ก่อน

          ลูกชายดิฉัน เข้าเรียนเตรียมอนุบาลละอออุทิศ ร้องไห้ทุกวัน ร้องจนเสียงแหบ ครูไม่สนใจ ปล่อยให้ร้องไป ขึ้น อนุบาล 1 ดีขึ้นมาหน่อยอยู่ที่โรงเรียนไม่ร้อง  แต่ก่อนไปโรงเรียน ร้องไห้บ้านแตก ต้องเอาชุดนักเรียนไปเปลี่ยนหน้าห้องเรียน ตอนขึ้นรถไปโรงเรียน แต่งชุดนอนไม่ยอมใส่ชุดนักเรียน  ที่ละอออุทิศ เป็นแนวเตรียมความพร้อม ก-ฮ   ตัวเลข 0-9  ยังไม่รู้เรื่อง สุดท้าย ย้ายโรงเรียนดีกว่า ดูท่าจะไปต่อ  ป.1 ไม่ไหว กลัวสอบไม่ได้ ย้ายสองพี่น้องเลย พี่สาวคนโตก็ย้ายไปอยู่ อนุบาล 3 ลูกชายย้ายไปอยู่ อนุบาล 2   ที่โรงเรียนธรรมรักษ์ ตรงรุ่งประชา  ตอนแรกทางโรงเรียนจะไม่รับ ให้ลองทำแบบทดสอบดูก่อน ผลสอบ ลูกสาวทำข้อสอบผ่าน (สอนแนววิชาการเองที่บ้าน) ส่วนลูกชายสอบไม่ผ่าน  ตกลงว่ารับพี่เข้าเรียน ก็ต้องรับน้องด้วย 

          พอถึงวันเปิดเทอมลูกชายเรียนไม่รู้เรื่องเลย ครูบ่น บอกว่าเขาเรียนไม่รู้เรื่องเลย ไม่ยอมเรียน ชอบเดินออกนอกห้อง  ให้เรียนพิเศษที่โรงเรียนเพิ่ม ก็ยอมเรียนหลังเลิกเรียน กับวันเสาร์  เรียนจนจะจบปี ก็ยังไม่ดีขึ้น  ก-ฮ  ตัวเลขอะไรก็ยังไม่ได้  ผลสอบ ได้ที่รองสุดท้ายค่ะ  สงสารลูกมาก เสียความมั่นใจไปเลย   (ตลอดที่อยู่ อ.2  แม่ไม่ได้สอนเขาเลย  เพราะต้องเอาเวลาไปติวพี่สาวที่จะต้องสอบสาธิตจุฬา เจ้าลูกชายก็ปล่อยให้ครูที่โรงเรียนสอนไป)  พึ่งครูไม่ได้ เข้าใจว่าครูไม่สนใจเท่าไรเพราะลูกชายพื้นฐานวิชาการไม่มี และไม่มีใจอยากเรียน  ครูต้องสอนเด็กคนอื่นด้วย ไม่มีเวลามาคอยตามสอนลูกเรา  ทำใจ ปล่อยไปก่อน ขอติวลูกสาวก่อน 

           ลูกชายพอขึ้นอนุบาล 3   ลูกสาวได้ไปเรียนที่สาธิตจุฬา  ก็มาติวลูกชาย ต่อทันที  เริ่มต้นสอนตั้งแต่  ก-ฮ  ตัวเลข 0-9  นับหนึ่งใหม่หมด ปูพื้นฐานใหม่ตั้งแต่ต้น ติวทุกวัน ขยันขันแข็ง ทั้งแม่ทั้งลูก  คงเพราะเห็นพี่สาวสอบได้ด้วยแหละ เลยบ่นน้อยหน่อย  ก็ตั้งใจเรียนใช้ได้ มีดื้อ สอนไม่เช่ื่อบ้าง แต่ก็ยอมเรียน  เขาก็รู้ว่าพ่อ กับ แม่ ทุ่มเท พาเขาไปเรียนพิเศษ ตอนเช้าไปเรียนครูปุ๊ย  ตอนบ่ายไปเรียนป้าหนอน  พออนุบาล 3 การเรียนที่โรงเรียนเริ่มดีขึ้นแล้ว ผลจากการปูพื้นฐานใหม่ เรียนรู้เรื่องแล้วไม่มีปัญหาการเรียน ผลการเรียนพอใช้ได้ อยู่ที่กลาง ๆ 

         สนามแรก พรีเทสสาธิตประสานมิตร  ผลสอบ ที่  4  ค่ะ  พ่อ แม่ ตกตะลึง ไม่อยากเชื่อ ได้รับเงินรางวัลด้วย เริ่มมีกำลังใจเรียนต่อ  สนามที่ 2 ราชวินิต สอบติดได้คะแนนลำดับที่  4   สนามสุดท้าย สาธิตจุฬา  บอกกับลูกว่า สนามสุดท้ายแล้ว ของจริงแล้วนะ  ตั้งใจสุดชีวิตเลยนะ เขาก็ ok เขาจะตั้งใจที่สุด ผลคือ สอบติด ได้เข้าเรียนสาธิตจุฬาแล้ว 

        เห็นมั้ยล่ะว่า ทำได้นะ คุณพ่อ คุณแม่ อย่าได้ท้อถอยนะ อย่าคิดว่าลูกเราเรียนไม่เก่ง  ขอบอกเลยว่า ถ้าอยากให้ลูกเรียนดี คุณพ่อ คุณแม่ ต้องช่วยสอนลูกด้วยนะคะ เขายังเด็ก ต้องการผู้สอนใกล้ชิด อธิบายให้เข้าใจ ถ้าเด็กเรียนไม่รู้เรื่องก็จะไม่อยากเรียนหนังสือ  ถ้าเด็กคนไหนมีผู้สอนอธิบายให้เข้าใจเรียนรู้เรื่องจะเกิดความมั่นใจ อยากเรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และจะมีนิสัยรักการเรียน  กล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ  เป็นนิสัยที่ควรปลูกฝัง

          หวังว่าเรื่องนี้จะเป็นกำลังใจ ให้กับ คุณพ่อ คุณแม่ หลาย ๆ ท่านนะคะ อย่าได้ปล่อยลูกไปตามโชคชะตาฟ้าลิขิต ลูกจะดีหรือ ไม่ดี  พ่อแม่มีส่วนอย่างมากค่ะ เห็นด้วยมั้ย

 

เมื่อลูกไม่อยากเรียน ติดเล่น

        เคยไหมค่ะ ลูกร้องไห้ไม่อยากเรียน เรียนไปทำไม ร้องไห้ทุกครั้งที่เรียน จะเล่นมันอย่างเดียว เล่นต่อตัวต่อก็มีประโยชน์ ขี่จักรยานก็มีประโยชน์ ไม่เรียนได้ไหม  ลูกดิฉันค่ะไม่อยากเรียน ถามว่า เรียนไปทำไม ไม่เห็นได้ใช้อะไรเลย  ทำไง วิธีที่ได้ผล ลองทำดูนะ เล่านิทาน เรื่อง พ่อแม่รังแกฉัน   มันได้ผล (กับลูกดิฉันทุกคนเลย) อยู่ที่ ท่านผู้ปกครอง จะเพิ่มเติม ใส่สีสัน ความรู้สึก ให้ลูกเห็นภาพเลย

       ว่าการที่ไม่มีความรู้ ไม่เรียนหนังสือ จะลำบากยังไง โดนคนอื่นโกง โดนเอาเปรียบสารพัด ยกตัวอย่าง คน ที่เกิดมาร่ำรวยแต่ไม่มีความรู้สุดท้ายกลายเป็นขอทาน  เปรียบเทียบ กับ คนที่เกิดมายากจน แต่ด้วยความมานะพยายาม สามารถเปลี่ยนฐานะให้ร่ำรวยได้  สุดท้ายทุกครั้งก่อนเรียน ท่องคำกลอนนี้ 

การเรียนแม้เหนื่อยยาก

ยอมลำบากอย่าท้อถอย

สุดทางที่รอคอย

คืออนาคตอันงดงาม

(จากหลังปกหนังสือ สำนักพิมพ์ The books )

 

        เล่าไปได้เรื่อย ๆ  เป็นระยะ ทุกครั้งที่ลูกไม่อยากเรียน ก็เล่าเรื่องประมาณนี้ให้ฟัง ผูกให้เป็นเรื่องเป็นราวนะคะ สิ่งสำคัญคือต้องบอกว่าเรื่องจริง มันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว  คนที่แต่งเรื่องนี้ ตอนเด็กเกิดเป็นลูกเศรษฐี  พอพ่อแม่ตายต้องกลายเป็น ขอทาน  ไม่มีบ้านอยู่  ลูกจะสะดุ้งเลย ไม่อยากให้ตนเองเป็นแบบนั้นแล้วจะมีมานะอยากเรียนขึ้นมาทันที 

        ทดลองดูนะคะ  ถ้าลูกยอมตั้งใจเรียนแล้ว ก็อย่าเยอะไปนะคะ ค่อย ๆ สอนทีละน้อย สำคัญต้องสอนต่อเนื่องทุกวัน ให้การเรียนเป็นความเคยชิน เรียนปนเล่น หาอุปกรณ์เสริม หรือสื่อการสอนที่น่าสนใจมาสอน เด็กก็จะอยากเรียนค่ะ (จริงนะเด็ก ๆ เขาชอบให้เรามีสื่อการสอนสนุก ๆ   ไม่ใช่มีแต่กระดาษกับดินสอ เขาจะเซ็งไม่อยากเรียน)

หลักสูตรเตรียมความพร้อมสอบสาธิต คือ หลักสูตรการเพิ่มระดับสติปัญญา

        ดิฉันไม่ได้เชียร์ให้ท่านผู้ปกครองพาลูกไปเรียน เพื่อหวังสอบเข้าได้อย่างเดียวนะคะ แต่ต้องการอธิบายว่า แรกเลยเนี่ย ดิฉันไม่เคยทราบเลยว่าแนวข้อสอบเข้าสาธิตจุฬาเป็นยังไง ต้องอ่านออกเขียนได้มั้ย เก่งเลข เก่งภาษาไทย อะไรยังไง ลูกตัวแค่นี้จะไปติวอะไร จะยัดข้อมูลอะไรมากมาย คือยังไม่รู้ไง

          ตอนหลังเริ่มรู้จากการไปร้านหนังสือ หาแนวข้อสอบเข้าจุฬาในอินเตอร์เน็ต จนได้มาเจอ เว็บ qkid ของครูรส ถึงได้ทราบรายละเอียดหลักสูตร เรื่องที่เรียนมีกว่าร้อยเรื่อง ซึ่งสรุปว่ามันเป็นการเรียนเพื่อพัฒนาสติปัญญา เป็นพื้นฐานสำคัญที่ใช้ในการสร้างกระบวนการคิด การแก้ไขปัญหา การสังเกต สมาธิ  

          ซึ่งถ้าเป็นเด็กที่เกิดมามีสติปัญญาดีตั้งแต่เกิด ไม่ต้องฝึกก็สามารถทำคะแนนพวกนี้ได้สูง เด็กกลุ่มนี้เรียกว่าเด็กที่มีไอคิวสูง โตขึ้นก็จะเป็นเด็กเรียนเก่ง เรียนรู้ไว้ เข้าใจไว

           เด็กที่เกิดมามีไอคิวสูง จะมีสักกี่คน ดิฉันว่าน้อยมาก ที่แน่ ๆ ลูกดิฉันไม่มีสักคน คือ ทุกคนล้วนผ่านการฝึกฝนทักษะมาเป็นอย่างดี ก่อนถึงวันสอบ เอาแบบจริงจังเลยเนี่ย 8 เดือนฝึกต่อเนื่องทุกวัน วันละอย่างน้อย 1 ชั่วโมง วันหยุดก็เพิ่มเวลาอีก เป็น 2 ชั่วโมง

          สิ่งที่ได้รับมันคุ้มค่านะคะ สิ่งที่สำคัญมากกว่าการสอบติดนั้น ก็คือ ลูก ๆ มีพัฒาการดีขึ้นรอบด้าน หัวไวขึ้น ฟังเก่ง ช่างสังเกต ช่างคิด ช่างหาคำตอบ รู้จักเปรียบเทียบโน่นนี่ มีกระบวนการคิดการแก้ปัญหา เข้ามาเป็นธรรมชาติติดเป็นนิสัยไปเลย เรียนรู้ไว เข้าใจไว ถ้าฝึกได้แบบนี้จะไปเรียนแนวไหน ก็เก่งค่ะ

        สรุปให้ก็คือว่า ไม่ว่าจะเรียนไปแนวไหน เรียนแล้วสอบติดก็ดี แต่สอบไม่ติดก็ไม่มีอะไรเสียเลยค่ะ ลูกเรารับประโยชน์เข้าไปเต็ม ๆ อยู่แล้ว (หมายถึงเรียนอย่างตั้งใจ ฝึกอย่างสม่ำเสมอนะคะ)

        การเรียนเชาว์ไม่ได้เป็นการยัดข้อมูลเข้าไปในหัวเด็ก แต่เป็นการฝึกทักษะกระบวนการคิด แก้ไขปัญหา อย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเรียนในอนาคต ควรส่งเสริมเป็นอย่างยิ่งค่ะ

        ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่สะดวกที่จะส่งลูกไปเรียน ก็หาซื้อหนังสือมาสอนเองก็ได้ค่ะ และติดตามสาระความรู้ คำแนะนำดีๆ วิธีการสอนจาก satitkids.com ได้นะคะ สงสัยอะไรอยากทราบเรื่องใดเพิ่มเติม ยินดีช่วยหาคำตอบให้ค่ะ